ตลาดเคลื่อนไหวผันผวนหลังการแถลงต่อสภาครั้งแรกของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ และการประชุม FOMC เดือนมีนาคม ขณะที่ประเด็นการกีดกันการค้าและการเมืองทวีความรุนแรงขึ้น เปิดเดือนมีนาคม ด้วยการที่ นาย Jerome Powell ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯหรือ Fed ได้แถลงนโยบายการเงินประจำครึ่งปี (Semiannullly Monetary Policy Report) ต่อสภาผู้แทนฯ (House Finance Services Committee) เมื่อช่วงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นับเป็นการแถลงการครั้งแรกตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ โดยมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภาพเศรษฐกิจ 4 ประเด็นหลักได้แก่
ในฟากของประเทศกลุ่มเอเชียก็มีสถานการณ์ความไม่แน่นอนเชิงนโยบายที่คล้ายคลึงกัน โดยในระหว่างที่ประธานธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้แถลงต่อการประชุมในสภาเมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคมว่า BOJ อาจจะลดการผ่อนคลายทางการเงินในระยะเวลาที่เหมาะสม ภายใต้เงื่อนไขว่าเงินเฟ้อเข้าสู่เป้าหมายที่ 2.0% ได้แล้ว ก็ทำให้เงินเยนแข็งค่าขึ้น 1.4% มาอยู่ที่ 105 เยนต่อดอลลาร์ฯ ส่วนดัชนี Nikkei ลดลงราว 2.0% ทันที ทั้งๆที่ ขณะนี้อัตราเงินเฟ้อจริงยังต่ำกว่าระดับเป้าหมายมากนัก(0.9% เมื่อเทียบกับเป้าหมายที่ 2.0%) ในด้านฝั่งยุโรปก็มีประเด็นด้านการเมืองในประเทศอิตาลี เยอรมนีและอังกฤษ ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อยุโรปยังยืนต่ำทำให้นักลงทุนมองว่าธนาคารกลางยุโรปอาจจะประวิงเวลาถอยมาตรการ QE ออกไปก็มีผลกดดันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรในหลายประเทศยุโรปสำคัญ ในช่วงนี้ ตลาดเคลื่อนไหวผันผวนตามข่าว และประเด็นทางการเมืองที่ประทุทั่วโลก ณ ขณะนี้ ทั้งที่ภาพเศรษฐกิจในช่วงสองเดือนที่ผ่านมาเทียบกับช่วงนี้ไม่ได้มีปัจจัยใดเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ
การจ้างงานนอกภาคเกษตร (Non-farm Payroll Employment) เดือนกุมภาพันธ์ เพิ่มขึ้น +3.1 แสนราย จากเดือนก่อนหน้าที่เพิ่มขึ้น +2.0 แสนราย ค่าจ้างเฉลี่ยต่อชั่วโมง (Average Hourly Earnings) ขยายตัว +2.6%YoY ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ +2.9%YoY แต่ก็ยังเกาะระดับค่าเฉลี่ย 12 เดือน อัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) ยังคงทรงตัวที่ 4.1% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่ปี 2000 ด้านอัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน (Labor Force Participation Rate) เพิ่มขึ้นเป็น 63.0% จากเดือนก่อนที่ 62.7% โดยในช่วงที่ผ่านมาผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีพยายามทดสอบระดับ 2.9% ทั้งนี้ Fed จะมีการประชุมนโยบายการเงินครั้งต่อไปในวันที่ 20-21 มีนาคม ซึ่งตลาดประเมินโอกาสขึ้นดอกเบี้ยที่ 100% ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Sentiment) เดือนมีนาคม เพิ่มขึ้น +2.3 จุด มาอยู่ที่ 102.0 จุด ซึ่งเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่ปี 2004 ส่วน ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Production) เดือนกุมภาพันธ์ กลับมาขยายตัว +1.1% MoM จากเดือนก่อนที่ -0.3% MoM กระทรวงการคลังสหรัฐฯ รายงานตัวเลขงบประมาณในเดือนกุมภาพันธ์ ขาดดุล -215 พันล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นการขาดดุลรายเดือนมากที่สุดนับตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2012 โดยรายได้ภาครัฐลดลง -9% เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้วเป็น 156 พันล้านดอลลาร์ฯ ในขณะที่รายจ่ายเพิ่มขึ้น +2% เป็น 371 พันล้านดอลลาร์ฯ หากนับในช่วงเวลา 12 เดือนย้อนหลัง รัฐบาลสหรัฐฯ ขาดดุล -706 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นราว -3.5% ของ GDP ซึ่งงบประมาณมีแนวโน้มขาดดุลเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ต้นปี 2016 กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ประเมินการขาดดุลงบประมาณจะมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ จาก -3.5% ต่อ GDP ในปี 2017 เป็น -4.4% และ -4.7% ในปี 2018 และ 2019 ตามลำดับ ซึ่งด้วย ยอดขาดดุลงบประมาณ และแนวโน้มหนี้ภาครัฐที่เพิ่มสูงขึ้นของทำให้สหรัฐฯ ต้องออกพันธบัตรเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันให้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรในตลาดปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต
เศรษฐกิจยูโรโซนหรือ EA-19 เติบโต +0.6% QoQ sa (ประมาณการครั้งสุดท้าย) ในไตรมาสที่ 4/2017 ทำให้ GDP รวมทั้งปี 2017 เร่งขึ้นเป็น +2.5% เร็วที่สุดในรอบ 10 ปี โดยที่ทุกเครื่องยนต์เศรษฐกิจสร้างผลบวก (GDP Contribution) ให้กับเศรษฐกิจยูโรโซน โดยที่การลงทุนสามารถพลิกกลับมาเป็นบวกได้ที่ +0.9% QoQ sa (prev. -0.2% QoQ sa) ขณะที่การส่งออกขยายต่อตัวเนื่องจากไตรมาสที่แล้ว (ที่ +1.9% QoQ sa จากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งขยายตัวที่ +1.6% QoQ sa) เช่นเดียวกับการนำเข้าที่ +1.1%QoQ sa จะเห็นได้ว่าการส่งออกขยายตัวได้มากกว่าการนำเข้าจึงยังทำให้การค้าต่างประเทศสุทธิยังส่งอานิสงส์ด้านบวกให้กับเศรษฐกิจยุโรป ส่วนการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวที่ +0.2% QoQ sa ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ +0.3% QoQ sa ในปี 2017 ที่ผ่านมายุโรปได้รับการหนุนจากหลากหลายปัจจัย เช่น ตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งจากการว่างงานที่ย่อลงมาอยู่ในระดับก่อนถึงวิกฤตการณ์ทางการเงินปี 2007-2008 ผนวกกับอัตราค่าจ้างที่ค่อยๆขยับตัวขึ้น ส่วนเงินเฟ้อยังทรงตัวอยู่ใกล้ 1.0% เป็นผลบวกต่อการบริโภคครัวเรือน ระหว่างที่การค้าระหว่างประเทศขยายตัวได้ดีจากอุปสงค์ทั่วโลก นอกจากนั้น เม็ดเงินลงทุนมีความแข็งแกร่งในสภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำและความเชื่อมั่นสูง สำหรับปี 2018 นี้เศรษฐกิจยูโรโซนยังอยู่ในทิศทางขาขึ้นแต่อาจจะชะลอจากปี 2017 เนื่องด้วย 1) ฐานสูง, 2) ตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายตัดซื้อที่พลิกกลับมาอ่อนตัวลง, 3) เงินยูโรที่ขยับแข็งค่า (ปัจจุบันค่าเงินยูโรอยู่ที่ 1.23 ยูโร/ดอลลาร์ฯ)อาจกระทบความสามารถการแข่งขันของสินค้าส่งออก, 4) อีกทั้งตลาดคาดหวังว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจจะต้องตัดสินใจกำหนดกรอบเวลาของมาตรการ QE ในช่วงปลายปีภายหลังจากที่การประชุมครั้งล่าสุดยังคงมาตรการ QE ไว้ตามเดิม, นอกจากนั้นยังมี 5) ความเสี่ยงด้านการเมืองในกรณีของประเทศอิตาลี อังกฤษ รวมทั้งรัสเซียอาจจะกระทบความั่นใจของนักลงทุนได้ ผลการเลือกตั้งของอิตาลีเมื่อวันที่ 4 มี.ค. ไม่สามารถหาข้อสรุปได้มีผลให้ประเทศอิตาลีเข้าสู่สภาวะสภาแขวน (Hung Parliament) หรือสถานการณ์ที่ไม่มีกลุ่มการเมืองไหนได้รับเสียงโหวตเกินกว่า 40% โดยกลุ่มพรรคผสมฝั่งกลาง-ขวา มีคะแนนเสียงมากที่สุดราว 37% อย่างไรก็ดี Silvio Berlusconi ผู้นำกลุ่มพรรคกลาง-ขวาถูกพิพากษาคดีฉ้อโกงทางภาษี และยังคงถูกห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ดังนั้น Matteo Salvini ผู้นำพรรค The League ซึ่งเป็นพันธมิตรกับ Berlusconi และมีแนวคิดขวาจัด จึงอยู่ในตำแหน่งที่อาจก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอิตาลีคนถัดไปได้ ขณะเดียวกันในประเทศเยอรมนี Angela Merkel ผู้นำพรรค CDU/CSU เจรจาต่อรองกับ SPD จัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ทำให้สามารถรักษาตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไว้ได้เป็นสมัยที่ 4 ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างสหราชอาณาจักรและรัสเซียกำลังมีความตึงเครียดขึ้น ภายหลังรัฐบาลสหราชอาณาจักรกล่าวหาฝ่ายรัสเซียว่าอยู่เบื้องหลังการใช้อาวุธเคมีกับอดีตสายลับสองหน้าภายในสหราชอาณาจักร ส่งผลให้แต่ละประเทศตัดสินใจขับไล่นักการทูตชุดใหญ่ของอีกฝ่ายออกนอกประเทศของตน
ญี่ปุ่นประกาศปรับประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาส 4/2017 ขึ้น จาก +0.1% QoQ ในประมาณการครั้งแรก เป็น +0.4% QoQ โดยมีปัจจัยหนุนจากการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 5 และเพิ่มขึ้นจาก +0.7% QoQ ในการประมาณการครั้งแรก เป็น +1.0% QoQ บวกกับการลงทุนภาครัฐที่หดตัวน้อยลงจากการประมาณการครั้งแรก -0.5% QoQ เป็น -0.2% QoQ ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 60% ของ GDP นั้น ขยายตัว 0.5% QoQ เท่ากับการประมาณการครั้งแรก ดัชนีราคาค้าส่ง (PPI) ของญี่ปุ่นขยายตัว +2.5% YoY ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยได้ปัจจัยหนุนจากราคาน้ำมันและราคาโลหะนอกกลุ่มเหล็กที่ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ แม้ดัชนี PPI จะปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 14 แต่ดัชนี PPI เดือนกุมภาพันธ์นั้นถือว่าขยายตัวในอัตราช้าลงจากเดือนมกราคมที่ขยายตัว +2.7% จากการแข็งค่าของเงินเยน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนมกราคมหดตัว -6.6% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า จากการผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ลดลง เนื่องจากฐานที่สูงในเดือนธันวาคม และการส่งออกไปสหรัฐฯ ที่ลดลง นอกจากนี้ การผลิตในอุตรสาหกรรมผลิตเครื่องจักรก็ชะลอลงเช่นกัน จากสภาพอากาศที่มีหิมะตกหนัก ส่งผลกระทบต่อซัพพลายของการผลิต ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นปรับการประเมินภาพรวมของภาคการผลิตในประเทศ จาก “กำลังฟื้นตัว” เป็น “ฟื้นตัวอย่างช้าๆ” อย่างไรก็ดี ในเดือนกุมภาพันธ์กระทรวงอุตสาหกรรมญี่ปุ่นประมาณการว่าผลผลิตจะเพิ่มขึ้น 9.0% ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) วันที่ 8-9 มีนาคมที่ผ่านมา BOJ ได้ประกาศคงนโยบายการเงินไว้ตามเดิม โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ -0.1% ส่วนเป้าหมายควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปียังคงไว้ที่ 0% เป็นไปตามตลาดคาด โดยจะเดินหน้าเข้าซื้อสินทรัพย์ต่อเนื่องตามเดิม ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่า BOJ มีความมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2.0% นอกจากนี้ นายคุโรดะ ผู้ว่าการ BOJ ยังได้ออกมาแถลงว่า BOJ อาจเพิ่มมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน หากพิจารณาแล้วว่าจำเป็น ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 16 มี.ค. ที่ผ่านมา รัฐสภาญี่ปุ่นได้มีมติอนุมัติการเสนอชื่อนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการต่ออีกสมัย พร้อมกับรับรองการเสนอชื่อรองผู้ว่าการ BOJ อีก 2 คน
รัฐบาลจีนตั้งเป้า GDP ปี 2018 ที่ “ประมาณ 6.5%” ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจอาจชะลอตัวลงจากปี 2017 ที่รัฐบาลตั้งเป้า GDP ไว้ที่ “6.5% หรือมากกว่าหากเป็นไปได้” สำหรับตัวเลขทางเศรษฐกิจอื่นๆนั้นพบว่า 1) รัฐบาลได้ปรับลดเป้าขาดดุลการคลัง (Fiscal Deficits) ลงเป็น -2.6% ของ GDP จาก -3.0% ในปีก่อนซึ่งเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าจีนจะลดการกระตุ้นเศรษฐกิจปีนี้ลง เนื่องจากการใช้จ่ายภาครัฐผ่านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure FAI) ถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา สำหรับ 2) ทิศทางนโยบายการเงิน รัฐบาลย้ำว่าจะใช้นโยบายการเงินอย่างรอบคอบและเป็นกลาง โดยจะรักษาให้สภาพคล่องอยู่ในระดับที่เหมาะสม และคาดปริมาณเงินในระบบ M2 จะขยายตัวในระดับต่ำ (8.8% YoY ในเดือนก.พ. vs. เป้าปี 2017 ที่ 13%) แต่ในครั้งนี้รัฐบาลไม่ได้กำหนดเป้าการขยายตัวที่ชัดเจน นอกจากนี้ 3) ทางการได้คงเป้าเงินเฟ้อปีนี้ที่ 3.0% YoY เท่ากับปีก่อน และ(4) ได้คงเป้าการขยายตัวของยอดค้าปลีกที่ 10% YoY เท่ากับปีก่อน (vs. ขยายตัวจริง 9.4%) ทุนสำรองระหว่างประเทศเดือน ก.พ. ปรับลดลง ลดลง -2.7 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ เป็น 3.13 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ในเดือน ก.พ. ซึ่งนับเป็นการลดลงครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ม.ค. 2017 ผลจากการตีมูลค่าสินทรัพย์ตามราคาตลาด เช่น เงินยูโรอ่อนค่าลงราว -1.7% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ฯ ในเดือน ก.พ. ซึ่งทำให้มูลค่าทุนสำรองซึ่งรายงานเป็นดอลลาร์ฯ ลดต่ำลง และ มูลค่าพันธบัตรสหรัฐฯ ที่ปรับลดลง เนื่องจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่เพิ่มขึ้น ไม่น่าจะเป็นปัจจัยที่ควรกังวลเนื่องจากไม่ได้ชี้ถึงภาวะเงินทุนไหลออก ซึ่งจากข้อมูลโดย State Administration of Foreign Exchange หรือ SAFE ได้ระบุว่าบัญชีเคลื่อนย้ายทุน (Capital Account) ของจีนพลิกกลับมาเป็นบวกในปี 2017 จากเม็ดเงินที่วิ่งเข้าไปลงทุนในหลักทรัพย์ทั้งตราสารหนี้และตราสารทุนภายหลังที่ทางการจีนได้เปิดทางให้นักลงทุนต่างชาติที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์เข้าลงทุนในตลาดจีนได้โดยตรง คณะกรรมการกำกับดูแลภาคธนาคารของจีน (CBRC) ประกาศลดอัตราส่วนสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL coverage ratio คือสัดส่วนระหว่างยอดการตั้งสำรอง/ยอด NPL) ลงจากเดิมที่ 150% เป็นกรอบ 120-150% และปรับสัดส่วนการตั้งสำรอง (ยอดการตั้งสำรอง/ยอดหนี้รวม)ลงจากเดิมที่ 2.5% เป็นกรอบ 1.5-2.5% โดยธนาคารพาณิชย์ที่สามารถตั้งสำรองได้ต่ำกว่าเกณฑ์เดิมจะต้องเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ 1) แจ้งยอด NPL ถูกต้องสม่ำเสมอ, 2) มีพัฒนาการในการแก้ไข/ลดยอดหนี้ NPL, และ 3) มีสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงหรือ Capital Adequacy Ratio ในระดับสูง ปัจจุบัน ธนาคารในจีนมี NPL Coverage Ratio เฉลี่ยอยู่ที่ 181% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ของทางการ ดังนั้น การปรับลดอัตราส่วนดังกล่าวลง จะช่วยให้ธนาคารสามารถปล่อยกู้ให้กับระบบเศรษฐกิจจริงได้มากขึ้น และช่วยชดเชยแรงกดดันจากการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดเพื่อลดการเติบโตของสินเชื่อนอกภาคธนาคาร
เศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคมขยายตัวต่อเนื่อง จากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวสูงและ ภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดีสอดคล้องกับอุปสงค์ต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ด้านการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวดีในทุก หมวดการใช้จ่าย ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวตาม สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐกลับมาขยายตัวจากรายจ่ายลงทุน ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวเล็กน้อยจากเดือนก่อน พัฒนาการเศรษฐกิจเดือนมกราคม เครื่องชี้นำประจำเดือนมกราคม : เครื่องชี้การบริโภคขยายตัวที่ +6.1% YoY (prev. +7.5% YoY) เป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อนตามการใช้จ่ายที่ขยายตัวในทุกหมวด นัยยะต่อเศรษฐกิจไทย : เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการใช้จ่ายในทุกหมวดสินค้าที่ขยายตัวดี อย่างไรก็ดี ปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อโดยรวมยังไม่เข้มแข็งและทั่วถึงนักโดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยโดยรายได้ นอกภาคเกษตรกรรมขยายตัวเล็กน้อย ขณะที่รายได้ในภาคเกษตรกรรมลดลงจากผลของราคาสินค้าเกษตรที่ลดลงแม้ ผลผลิตจะขยายตัวสูง การบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวดี ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัว สอดคล้องกันโดยเฉพาะการผลิตในหมวดยานยนต์ และเคมีภัณฑ์